มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
เปิดบ้านต้อนรับนักศึกษาวัย 72 ปี สู่รั้วบ้านแห่งความสำเร็จ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์
(Graphic and Information Design)
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
เปิดบ้านต้อนรับนักศึกษาที่คาดว่าจะมีอายุมากที่สุด ตั้งแต่การเปิดหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ คือ
นายไพบูลย์ สุดลาภา อายุ 72 ปี ที่เข้ามอบตัวและลง ทะเบียนเรียนกับนักศึกษาร่วมชั้นเรียนอีก 20 คน โดยเข้าร่วมรับการอบรมปรับพื้นฐานด้านศิลปะและการออกแบบ กับเพื่อนร่วมชั้นอย่างสนุกสนาน
ดร.วิสิทธิ์
โพธิวัฒน์ ประธานสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า
“คุณลุงไพบูลย์เข้ามาสมัครเรียนตามปกติ คือ มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามระเบียบและเข้ารับการสอบสัมภาษณ์
โดยได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจในวิชาที่สมัครเรียน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและยินดีที่จะเข้าเรียนภายใต้เงื่อนไขของการเป็นนักศึกษาเช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป
ซึ่งคณะกรรมการสอบจึงมี มติรับคุณลุงไพบูลย์เป็นนักศึกษา
เป็นไปตามนิยามของสถาบัน คือ “บ้านแห่งความสำเร็จ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ด้วยมหาวิทยาลัยไม่มีการปิดกั้นโอกาสและเปิดรับทุกคนที่ตั้งใจมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในชีวิตของตนเองด้วยการศึกษา”
โดยก่อนเปิดภาคเรียน
มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับพื้นฐานด้านศิลปะและการออกแบบแก่นักศึกษาใหม่
จำนวน 21 คน โดยมีการทำเวิร์คช้อปเกี่ยวกับการวาดภาพลายเส้น ปรากฏว่า คุณลุงไพบูลย์ก็มาร่วมเรียนด้วย
มีผลงานวาดภาพผลไม้ และเรียนวิธีการจัดองค์ประกอบศิลป์
ก่อนที่จะเข้าเรียนในวันเปิดเทอมวันแรก 15 สิงหาคม 2562
“สิ่งที่คาดหวังคือ
คุณลุงไพบูลย์ หรือ “พี่ตุ๋ย” ของเพื่อนๆ จะสามารถเรียนและยังช่วยแนะนำประสบการณ์จากอเมริกา
ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษที่มีอยู่มาถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ในชั้น ในขณะเดียวกันเพื่อนรุ่นน้องก็จะ ช่วยให้
“พี่ตุ๋ย” เข้าใจลักษณะการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยปัจจุบันได้ด้วย
ถือเป็นการแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกันที่น่ายินดี เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายๆ
คนที่ต้องการความสำเร็จในชีวิต ให้มั่นใจในการเรียนต่อตามความฝันของตนเอง” ดร.วิสิทธิ์กล่าว
สาเหตุที่เลือกเรียนที่
มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา นั้น นายไพบูลย์ สุดลาภา อายุ 72 ปี หรือ “พี่ตุ๋ย”
ของเพื่อนๆ เล่าให้ฟังว่า “ไม่นานมานี้ ผมได้พบกับเพื่อนรุ่นน้องที่เคยเจอกันระหว่างการทำงานขับเครื่องบินพาณิชย์ที่อเมริกา
เมื่อถามถึงการเรียนรุ่นน้องคนนั้นก็เล่าให้ฟังถึงสถาบันที่เค้าจบ
ทำให้ย้อนคิดถึงตอนเด็กๆ ที่โตมาแถวท่าพระ
ได้เข้ามาวิ่งเล่นฟุตบอลในบริเวณโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (สมัยนั้น) เลยรู้สึกผูกพันและอยากเข้าเรียนที่นี่
หลังจากหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแล้ว พบว่ามีการเปิดรับสมัครนักศึกษาหลายคณะ
จึงได้จัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้
เพราะคิดว่าความสามารถทางคอมพิวเตอร์และความชอบในศิลปะ และอยากรู้ว่าการเรียนวิชาศิลปะและการออกแบบ เป็นอย่างไร อยากรู้ว่าเขาทำกันยังไง
เมื่อได้เห็นข้อมูลและรายละเอียดของหลักสูตร จึงสนใจมาสมัครเรียน เมื่อสอบ สัมภาษณ์ผ่านแล้ว ก็ตัดสินใจลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา
คิดว่าการเรียนการสอนที่นี่จะช่วยให้มีความสุขในสิ่งที่เรียนได้”
ประวัติของนายไพบูลย์
สุดลาภา หรือ “พี่ตุ๋ย” ของเพื่อนร่วมชั้นเรียน จบการศึกษาระดับมัธยม ม.ศ. 5
(เทียบเท่า ม. 6 ปัจจุบัน) ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เมื่อ พ.ศ. 2507
และได้เดินทางไปใช้ชีวิตและการทำงานในอเมริกา โดยเข้าเรียนต่อในโรงเรียนการบิน
เมื่อจบแล้วได้ทำงานด้านการขับเครื่องบินพาณิชย์ เคยมีประสบการณ์ร่วมรบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย
ช่วง พ.ศ. 2533-2534 ด้วย ก่อนจะเดินทางกลับมาประเทศไทย เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้
หลักสูตรที่คุณลุงไพบูลย์เลือกเรียนต่อ คือ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ เป็นหลักสูตรที่บูรณาการศาสตร์และศิลป์ มีวิชาที่ต้องลงเรียนไม่น้อยกว่า
136 หน่วยกิต เพื่อให้นักศึกษาได้มีความ เชี่ยวชาญเชิงลึกในการออกแบบสร้างสรรค์
เข้าใจในกระบวนการในการทำงาน สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนา งานออกแบบกราฟิกและอินโฟร์
และงานออกแบบที่เกี่ยวข้องได้ โดยจัดให้เรียนกับห้องเรียน ห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์
iMAC ห้องสตูดิโอการถ่ายภาพ และอุปกรณ์สื่อเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จำเป็นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและตลาดแรงงาน
โดยแบ่งรายวิชาที่สำคัญคร่าวๆ
ดังนี้ กลุ่มวิชาพื้นฐานด้านศิลปะ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะและการออกแบบ หลักการออกแบบและทฤษฎีสี กลุ่มวิชาพื้นฐานด้านการออกแบบ เช่น
ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการออกแบบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการออกแบบ
คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ การออกแบบภาษาภาพ กลุ่มวิชาด้านการสื่อสารการตลาด
เช่น อักษรศิลป์ การออกแบบอินเตอร์เฟส การออกแบบแบรนด์ การตลาดสร้างสรรค์ โครงการพิเศษออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ เป็นต้น
ผู้สนใจสมัครเรียนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 02-473-7000 หรือ http://graphic.bsru.ac.th/ |